|
![]() ![]() มดเป็นแมลงสังคมที่แท้จริง (Eusocial insect) อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (colony) ในแต่ละชนิด มีหลายรุ่นใน 1 กลุ่ม ภายในกลุ่มแบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ภายในมดกลุ่มๆหนึ่งจะมีราชินี ที่ทำหน้าที่วางไข่และมดงานที่เป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากซึ่งรวมถึง ไข่ ตัวหนอน และดักแด้ มดงานเป็นมดที่มีมากที่สุดในแต่ละรัง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างรังและดูแลรัง หาอาหาร ดูแลครอบครัวและราชินี และป้องกันรัง ราชินีและเพศผู้ที่มีปีกจะอยู่ในรังช่วงสั้นๆเท่านั้น ในเวลาต่อมาก็จะออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์และสร้างรังใหม่ ราชินีโดยทั่วไปคล้ายกับมดงาน ต่างกันตรงที่มีส่วนท้องใหญ่กว่า มดเพศผู้นั้นมีขนาดเท่ากับมดงานหรือเล็กกว่าเล็กน้อย มีหัวเล็กกว่าและตาเดี่ยว ส่วนมากดูคล้ายกับต่อมากกว่ามด มดงานเป็นวรรณะที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะขณะที่มดงานหาอาหารบนพื้นดินหรือเมื่อขอนไม้ผุหรือที่อยู่อาศัยถูกรบกวน อย่างไรก็ตาม มดงานบางส่วนเท่านั้นที่ออกไปหาอาหาร เนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่การทำงาน อย่างชัดเจนภายในรัง บางกรณีหน้าที่ที่เจาะจงนั้นขึ้นอยู่กับอายุของมดงาน ตัวอย่างเช่น มดงานที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆจะคงอยู่ภายในรังและดูแลไข่ ตัวหนอน และดักแด้ ![]() ชีวิตของมดโดยทั่วไปเริ่มด้วย ราชินี 1 ตัวจะบินออกจากรังพร้อมด้วยราชินีและมดเพศผู้ตัวอื่นๆจากรังอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง ราชินีจะหาที่สำหรับผสมพันธุ์ โดยปกติจะถูกดึงดูดด้วยวัตถุขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ต้นไม้สูงๆ ไม้พุ่มขนาดใหญ่ และยอดเนินเขา บริเวณเหล่านี้จะเป็นที่พบกันสำหรับราชินีและมดเพศผู้ที่มาจากหลายรัง เมื่อพบกัน ราชินีก็จะผสมพันธุ์กับมดเพศผู้ 1 ตัว หรือ 2-3 ตัว ขณะยังคงบินอยู่ในอากาศแต่เป็นช่วงสั้นๆ ![]() ![]() หลังจากนั้นก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน ราชินีจะค้นหาพื้นที่ทำรังที่เหมาะสม พื้นที่ที่ราชินีค้นหานั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและมีขอบเขตตั้งแต่ยอดไม้จนถึงใต้ดิน ข่วงที่ราชินีค้นหาหรือขณะที่พบพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วราชินีจะกัดปีกหรือสลัดปีกออกเนื่องจากไม่ต้องการใช้แล้ว จากนั้นราชินีจะห่อหุ้มตัวเองด้วยปลอกขนาดเล็กๆและวางไข่เป็นกลุ่มเล็กๆ ราชินียังคงอยู่ในรังกับครอบครัว ขณะที่กำลังเจริญเติบโต ตัวหนอนที่กำลังเจริญเติบโตจะกินไข่ที่ไม่ได้ผสมซึ่งราชินีจะวางไข่สำหรับเป็นอาหารโดยเฉพาะ มดงานรุ่นที่ 1 มีขนาดเล็กกว่ามดงานรุ่นถัดๆ มา เพราะว่าราชินีสามารถจัดเตรียมอาหารในปริมาณที่กำจัด เมื่อเปรียบเทียบกับการหาอาหารของมดงาน เมื่อมดงานเป็นตัวเต็มวัย ก็จะเริ่มออกจากรังและหาอาหารโดยการจับเหยื่อกลับมาให้ราชินีและครอบครัวที่เพิ่มขึ้น กลุ่มมดพัฒนาขึ้น เพราะว่ามีมดงานตัวเต็มวัยมากขึ้น มดงานรุ่นใหม่ควบคุมดูแลครอบครัวรวมทั้งหาอาหารเพิ่มขึ้น ที่ระยะนี้ ราชินีจะลดกิจกรรมในการวางไข่และมดงานเข้ารับหน้าที่ทั้งหมดภายในรัง ราชินียังคงมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตกลุ่มมดทั่วไป เพราะว่าราชินีจะควบคุมกิจกรรมของมดงานทั้งหมดในรังด้วยการส่งสารเคมี รูปแบบการค้นหารังตามข้างบนเป็นรูปแบบหนึ่งที่พบทั่วไปและแพร่กระจายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีมดอีกจำนวนมากที่แตกต่างไปจากนี้ ตัวอย่างเช่น การผสมพันธุ์อาจเกิดขึ้นบนหรือในรังราชินีหลายตัวสร้างรังร่วมกันและอาศัยอยู่ร่วมกันหรือต่อมาก็ต่อสู้กันในการกำหนดราชินีที่เหลืออยู่ภายในรัง ส่วนราชินีตัวอื่นๆถูกบังคับให้ออกไปหรือถูกฆ่าตาย ![]() ส่วนในบางชนิดนั้นกลุ่มใหม่ถูกสร้างเมื่อราชินีใหม่ออกจากรังไปพร้อมกับมดงานจำนวนหนึ่งและกำหนดถิ่นฐานใหม่ที่ห่างไกลออกไป ราชินีหาอาหารข้างนอกรังก่อนที่มดงานรุ่นที่ 1 จะเกิดขึ้น เป็นต้น ขณะที่กลุ่มมดงานจะเข้าสู่วัยแก่ ราชินีจะเริ่มผลิตราชินีและมดเพศผู้ในรุ่นถัดไป ปัจจัยหลายประการที่เป็นตัวกำหนดการผลิตราชินีใหม่ประกอบด้วย เวลาในรอบปี อาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ขนาดและที่บรรจุไข่ที่วาง ฟีโรโมนหรือฮอร์โมนที่ผลิตโดยราชินีและอายุของราชินี ส่วนการผลิตมดเพศผู้นั้นถูกกำหนดโดยกลไกอย่างง่ายๆกว่าราชินี ตัวหนอนของราชินีและมดเพศผู้ใหม่จะคล้ายกับตัวหนอนของมดงานแต่โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อเป็นตัวเต็มวัยระยะแรกจะยังคงอยู่ในรังก่อนเพื่อคอยภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเริ่มต้นออกจากรัง สภาพที่เหมาะสมนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญในการกระตุ้นการออกจากรังของราชินีและมดเพศผู้เมื่อออกจากรังไปแล้ว ราชินีจะผสมพันธุ์และสร้างรังใหม่ภายใน 2-3 วันเท่านั้น ขณะที่มดเพศผู้โดยทั่วไปจะตายภายใน 2-3 วันหลังออกจากรัง ถ้าดูที่ส่วนปากของมดแล้วพบว่า จะมีส่วนที่ใช้กัดและกินรวมไปถึงส่วนที่ใช้ดูดด้วย ดังนั้นมดส่วนมากสามารถดูดน้ำเลี้ยงพืชหรือของเหลวจากแมลงที่ขับถ่ายออกมาได้ รวมไปถึงการกัดและกินพืชที่ตายแล้วหรือชิ้นส่วนของสัตว์ มดงานส่วนใหญ่เป็นพวกตัวห้ำหรือกินซากสัตว์ (scavengers) อาหารของมดนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบด้วย สัตว์ที่ขาเป็นปล้องและเมล็ดพืช มดตัวเต็มวัยกินอาหารที่เป็นของเหลว โดยสะสมของเหลวจากเหยื่อที่จับได้หรือขณะที่ดูแลพวกเพลี้ยต่างๆ และแมลงกลุ่มอื่นๆ เหยื่อที่เป็นของแข็งนั้นก็จะนำกลับไปที่รังโดยมดงาน ตามปกติจะเป็นอาหารของตัวอ่อนมด ตัวเต็มวัยที่อยู่ในรังได้แก่ ราชินี ได้รับอาหารจำนวนมากหรือทั้งหมดจากมดงานที่หาอาหารได้โดยตรง ระหว่างที่หาอาหาร มดงานจะสะสมของเหลวซึ่งจะเก็บสะสมไว้ที่ส่วนบนของระบบย่อยอาหาร เมื่อกลับไปยังรัง มดงานเหล่านี้จะสำรองของเหลวที่สะสมไว้และผ่านเข้าไปยังมดงานตัวอื่นๆ ![]() ![]() ขณะที่มดงานส่วนมากจะกินอาหารแตกต่างกันออกไป มีมดบางชนิดเจาะจงอาหารในวงแคบๆ มดจำนวนมากชอบกินพวกแมลงหางดีดเป็นอย่างมาก ส่วนมดบางชนิดชอบกินไข่ของสัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง มดบางชนิดจะเข้าไปยังรังมดชนิดอื่นอย่างรวดเร็วเพื่อจับตัวอ่อนมดและดักแด้ มดจำนวนมากที่มีความจำเพาะกับอาหารที่กินนั้นจะมีการดัดแปลงลักษณะทางสัณฐาน ตัวอย่างเช่น กรามที่พบในพวกกลุ่มตัวห้ำชั้นสูงจะเรียวยาวมากและมีฟันขนาดใหญ่ โดยเฉพาะตอนปลาย เมล็ดของพืชจำนวนมาก มีอาหารที่จำเพาะเรียกว่า elaiosomes ซึ่งจะดึงดูดมดให้เข้ามา มดจะสะสมเมล็ดโดยกินส่วนนี้เป็นอาหาร บางครั้งกินเมล็ดด้วย เมล็ดจำนวนมากยังคงงอกได้หลังจากส่วนที่มีอาหารถูกกินไป เมล็ดจะถูกวางไว้ภายในรังหรือบนกองตรงกลางที่มดสร้างขึ้นมา เป็นบริเวณที่เมล็ดจะมีการงอกในเวลาต่อมา มีความเชื่อว่าเมล็ดที่สะสมโดยมดมีโอกาสสูงมากในการงอกและรอดชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดที่ไม่ได้มีการสะสมจากมด เนื่องจากเมล็ดถูกทำลายน้อยมากโดยพวกกินเมล็ด และเนื่องจากเมล็ดถูกเก็บไว้ในร่มใกล้กับกองดินที่มีธาตุอาหาร โดยทั่วไป มดชอบออกหากินไม่ช่วงกลางวันก็กลางคืน การออกหากินของมดบางชนิดเกิดขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ในบริเวณที่แห้งแล้ง กิจกรรมการหาอาหารของมดจำนวนมากขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ บางชนิดมีกิจกรรมระหว่างช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น ส่วนบางชนิดมีกิจกรรมระหว่างตอนที่ร้อนที่สุดของวัน การติดต่อสื่อสารระหว่างมดด้วยกัน ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่ผลิตขึ้นมา สารเคมีชนิดนี้ เรียกว่า ฟีโรโมน เป็นสารเคมีที่สำคัญมากที่สุด สารเคมีชนิดนี้มีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ตัวอย่างเช่น การบอกทาง จะพบเห็นเป็นประจำที่มดเดินขณะที่ออกไปหาอาหารซึ่งจะทำให้สมาชิกมดงานตัวอื่นๆสามารถค้นหาเจอ การเตือนภัยและการผสมพันธุ์ มดจะปล่อยฟีโรโมนเกี่ยวกับพวกนั้นออกมา เช่น เมื่อเกิดอันตรายกับสมาชิกในกลุ่ม มดงานจะปล่อยฟีโรโมนเกี่ยวกับการเตือนภัยให้แก่สมาชิกรับทราบถึงอันตรายที่ได้รับหรือจะมาถึง ![]() ![]() มดงานก็จะมาอยู่รวมเป็นกลุ่มและมีปฏิกิริยาโต้ตอบโดยใช้กรามและหนวดกางออกอย่างกว้างๆ ในมดบางกลุ่มมีการปล่อยกรดฟอร์มิกออกมาทางด้านปลายส่วนท้อง เป็นการขับไล่ศัตรูออกไป มดแต่ละตัวจะมีที่รับสารเคมีเหล่านี้ได้ดีมากและรวดเร็วซึ่งจะอยู่ที่หนวดและส่วนอ่อนของลำตัวมดยังมีการสื่อสารโดยการใช้หนวดด้วยเช่นกัน จะเห็นอยู่เป็นประจำในลักษณะที่เรียกว่าจูบกัน (kissing) แต่ละตัวเมื่อพบกันตามทางเดิน โดยการเคลื่อนไหวหนวดจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งหรือไปข้างหน้าและข้างหลัง การเคลื่อนไหวของหนวดจะเป็นการแสดงตำแหน่งของอาหาร หรือรังพฤติกรรมการจูบนี้จะพบเห็นระหว่างช่วงที่มีการถ่ายเทอาหารใหแก่กันด้วย ขบวนการนี้เป็นการแลกเปลี่ยนของเหลวที่อยู่ในกระเพาะด้านหน้าระหว่างสมาชิกด้วยกันและผู้มาเยี่ยมเยือนอาจเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันหรือได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารโดยการสั่นทำให้เกิดเสียงขึ้น พบได้ในมดบางชนิดที่ชอบอาศัยตามต้นไม้ เมื่อมีภัยมดงานที่อยู่ในรังจะกระตุ้นโดยการเคาะเบาๆตามพืชที่อาศัยเป็นผลทำให้เกิดเสียงอย่างดังและสามารถได้ยินได้ วิธีนี้เป็นการป้องกันต่อศัตรูและเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับมดที่อยู่บริเวณนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสื่อสารของมด หนวดถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดที่จะถ่ายทอดสัญญาณต่างๆออกไปให้มดงานที่อยู่รอบข้างได้รับรู้ มีการเปรียบเทียบไว้ว่าถ้าผึ้งจะใช้การการสื่อสารต่อกันโดยภาษาการเต้นรำ ส่วนมดนั้นจะใช้ภาษาของหนวดในการสื่อสาร |